บทความ ยาแก้ปวดกับโรคไตเรื้อรัง
โดย นายแพทย์ ธีรวัฒน์ ธนชยานนท์
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาต้องมีความระมัดระวัง เป็นพิเศษ
ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตที่ลดลง เช่น ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะยาทุกชนิดเป็นสารเคมี เมื่อรับประทานและดูดซึมเข้าร่างกาย จะมีส่วนประกอบที่ไปออกฤทธิ์กับเซลล์หรืออวัยวะต่างๆ แต่ส่วนประกอบที่ไม่ได้ออกฤทธิ์จะถูกกำจัดออกทางไต เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีค่าการทำงานของไตที่ลดลงอยู่แล้วการใช้ยาที่มากเกินความจำเป็นจะส่งผลเสียต่อการทำงานของไตมากขึ้น นอกจากนี้ยาบางชนิดยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง ทำให้การทำงานของไตลดลง หรือ ไตอักเสบได้ ยาที่พบบ่อยว่าทำให้เกิดผลเสียในลักษณะเช่นนี้ คือ ยาแก้ปวด กลุ่มที่เรียกว่า ยาแก้ปวดกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) ที่พบบ่อยเนื่องจากเป็นยาแก้ปวดที่มีจำหน่ายกันแพร่หลาย ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร้านขาย ของชำ ซึ่งบางครั้งจะมาในลักษณะเป็นยาชุดรวมกับยาชนิดอื่น ๆ หลายอย่าง ยาแก้ปวดชนิดนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อ ดังนั้นจึงเป็นการง่าย ที่ประชาชนทั่วไปจะหาซื้อได้ ยาในกลุ่มนี้มาหลายชนิดมาก ยกตัวอย่างเช่น ไอบรูโพรเฟน (Ibruprofen) พอนแสตน (Ponstan) โวทาเลน (Voltaren) นาพร็อกเซ็น (Naproxen) ซีรีเบร็กซ์ (Celebrex) อาร์คอกเซีย (Arcoxia) เป็นต้น ยาแก้ปวดในกลุ่มนี้มักจะใช้เพื่อลดอาการปวด เมื่อยตามตัว ปวดกระดูก หรือเพื่อลดอาการไข้สูง
ยาเหล่านี้ส่งผลเสียต่อไตโดยตรง ผ่านกลไกหลักสองกลไกคือ ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และ ไตอักเสบ ความเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียต่อไตจากยาใน กลุ่มนี้คือ การใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นระยะเวลานาน ๆ ผู้ที่มีค่าการทำงานของไตที่ลดลงอยู่แล้ว ผู้ป่วยสูงอายุ และ ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำในร่างกาย เช่น ท้องเสีย กินอาหารไม่ได้ ไข้สูงมาก ผู้ป่วยที่รับประทานยาขับปัสสาวะร่วมด้วย ผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันในกลุ่ม เอซีอีไอ (ACEI) หรือ เออาร์บี (ARB) นอกจากนี้ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเซดนี้ยังมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร คือ ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ แผลในกระเพาะอาหาร ด้วยดังนั้น ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง ควรระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาในกลุ่มนี้ และควรหลีกเลี่ยง การซื้อยาแก้ปวดรับประทานเอง