บทความ

ไตกับปริมาณน้ำ

บทความ ไตกับปริมาณน้ำ
โดย พญ.บงกช สุรัติชัยกุล
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์

น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย

 เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย โดยน้ำเป็นองค์ประกอบประมาณ 60% ของน้ำหนักตัว โดยน้ำได้ทำหน้าที่สำคัญต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เป็นส่วนสำคัญของเลือด ซึ่งช่วยในการขับเคลื่อนนำส่งของเสียไปขับออกที่ไต และนำสารอาหารไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมีการขาดน้ำจึงทำให้รบกวนการทำหน้าที่เหล่านี้ การขาดน้ำในปริมาณเล็กน้อยอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ถ้าขาดรุนแรงอาจทำให้การทำงานของไตลดลง การดื่มน้ำอย่างเพียงพอยังช่วยทำให้สารก่อนิ่วไม่ตกตะกอนในไต ช่วยลดผลข้างเคียงของการรับประทานยาต่าง ๆ ได้
โดยปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมต่อวันในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ตามอายุ สภาพอากาศ การออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือภาวะเจ็บป่วย โดยในบุคคลที่ออกกำลังกายหนัก และบุคคลที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นจะมีความต้องการน้ำในปริมาณที่มากกว่า บุคคลที่ไม่ได้ออกกำลังกายหรืออยู่ในสภาพอากาศเย็น แต่โดยเฉลี่ยแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 8 แก้วต่อวัน โดยแต่ละบุคคลควรปรับตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น และอาจสังเกตได้จากสีปัสสาวะ หากสีของปัสสาวะเริ่มมีสีเหลืองเข้มอาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่มีอัตราการทำงานของไตลดลง ความสามารถในการขับน้ำจะลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคไตระยะท้ายหรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยการบำบัดทดแทนทางไต อาจต้องมีการจำกัดการดื่มน้ำอย่างเคร่งครัด
แม้ว่าน้ำจะมีประโยชน์ แต่ในกรณีที่ดื่มมากเกินไป เช่น มากกว่า 6-10 ลิตร ด้วยความรวดเร็ว เช่น ในนักวิ่งมาราธอนทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายได้ ดังนั้นหากท่านมีโรคประจำตัวควรปรึกษาปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับแพทย์ประจำตัวของท่าน

เรียบเรียงโดย
พญ.บงกช สุรัติชัยกุล
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ 

โรคไต กับการ วิ่งมาราธอน

โรคไต กับ ตัวต่อต่อย

โรคไต กับ อาหารเค็ม