บทความ โรคไตกับอาหารเค็ม
โดย นพ. ธีรยุทธ เจียมจริยาภรณ์
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
โรคไตกับอาหารเค็ม
โรคไตเรื้อรัง เป็นโรคที่รุนแรง และอันตรายถึงชีวิต จากข้อมูลทางสถิติปัจจุบันคาดการณ์ว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 11 ล้านคนโดยสาเหตุสำคัญ คือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่เกิดจากการบริโภคอาหารรสชาดเค็ม ซึ่งมีปริมาณโซเดียมสูง
เกลือโซเดียม พบได้ในอาหารทั่วไปเกือบทุกชนิด แต่จะมีมากในอาหารประเภทเครื่องปรุงรส ที่มีรสเค็ม หากรับประทานโซเดียมมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไตเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้น เราควรรับประทานโซเดียมไม่เกินวันละ 2000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับอาหารตามธรรมชาติที่มีการปรุงรสด้วยน้ำปลาไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน หรือปรุงรสด้วยเครื่องปรุงอื่น ๆ ที่ให้โซเดียมน้อยกว่า 1200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 400 มิลลิกรัมต่อมื้อ
อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่
- เครื่องปรุงรส ทั้งที่มีและไม่มีรสเค็ม เช่น น้ำปลาซีอิ้ว เต้าเจี้ยว ซอสหอยนางรม ผงปรุงรส ผงชูรสกะปิ ปลาร้า ผงฟู
- อาหารแปรรูปเนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น หมูยอ กุนเชียง แหนม หมูหยองลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารกระป๋องอาหารหมักดองและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เทคนิคการลดเกลือโซเดียม
- รับประทานอาหารสด เพื่อให้มีเครื่องปรุงรสน้อยที่สุด และคุ้นเคยกับอาหารจืด
- ชิมก่อนปรุง หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงบนโต๊ะอาหาร
- ลด และ เลิก การใช้ผงชูรส
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารที่ต้องใช้เครื่องปรุงเพิ่ม เช่น น้ำจิ้ม
- ใช้รสชาดอื่น เช่น รสเปรี้ยว รสเผ็ด และเครื่องเทศสมุนไพรต่าง ๆ ทำให้อาหารน่ารับประทาน แทนที่อาหารเค็ม