ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive bladder, OAB) หรือที่คนบางกลุ่มรู้จักในนามของ ‘โรคช้ำรั่ว’ ในปัจจุบันวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนัก โดยเชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดจากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีความผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะทำงานได้ตามปกติ จึงเกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะที่ไวกว่าปกตินั่นเองครับ และสาเหตุเหล่านี้แม้จะไม่ได้ร้ายแรงแต่เนื่องจากมีโรคร้ายแรงถึงชีวิตหลายโรคที่มีอาการคล้ายๆกับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นิ่ว หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีอาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะไม่ควรอายแต่ควรรีบไปพบแพทย์นะครับ
4 อาการที่บ่งบอกว่าเป็น ‘ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน’
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือที่เรียกสั้นๆว่า OAB (โอเอบี) นั้น เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากการปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน ซึ่งประกอบด้วย 4 อาการ ดังนี้
- ปวดปัสสาวะรีบเร่ง (Urgency) หมายถึง อาการรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรงจนไม่สามารถรอได้ (โดยปกติคนเราจะสามารถกลั้นปัสสาวะและชะลอการถ่ายปัสสาวะได้)
- ปัสสาวะบ่อย (Frequency) หมายถึง มีการถ่ายปัสสาวะที่บ่อยกว่าปกติ คือ มากกว่า 8 ครั้งต่อวัน (24 ชั่วโมง)
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะเล็ดราด (Urge incontinence) หมายถึง การเล็ดราดของปัสสาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากความรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) หมายถึง ตื่นขึ้นมาเพื่อปัสสาวะตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป หลังจากเข้านอนแล้ว
ทั้ง 4 อาการนี้เราจะให้ความสำคัญกับอาการปัสสาวะเร่งรีบ (Urgency) เป็นอาการสำคัญนะครับ โดยอาจมีปัสสาวะเล็ดราดตามหลังอาการปัสสาวะเร่งรีบ (Urge incontinence) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ และมักจะมีอาการปัสสาวะบ่อย (Frequency) รวมถึงปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia) ร่วมอยู่ด้วยก็ได้ครับ
ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ ‘ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน’
สำหรับภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจจะยังมีข้อสงสัยบางประเด็นและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักในบางประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นทั่วไป ทำให้หลายคนมองข้ามจนลืมสังเกตตัวเองว่าอาจเป็นภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน บางคนอาจคิดว่าอาการเพียงเล็กน้อยไม่สำคัญจนมองข้ามการไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาจนอาจทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงนั่นเอง
มักมีอาการเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ?
ที่จริงแล้วภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนั้น พบได้ทั้งผู้ที่มีอายุน้อยอยู่ในวัยทำงานและในผู้สูงอายุ แต่จะพบในผู้สูงอายุมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานก็ไม่ควรมองข้ามอาการของโรคนี้เช่นกันครับ
ดื่มน้ำให้น้อยลงอาการก็จะหายเอง ?
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่าเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดจากระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ดังนั้นการดื่มน้ำน้อยลงไม่สามารถทำให้อาการหายได้ แต่การงดการดื่มน้ำก่อนนอนและก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ จะช่วยบรรเทาอาการ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้ที่มีอาการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินเกิดกับผู้หญิงเท่านั้น ?
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนั้น เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในประชากรทั่วไปของทุกประเทศทั่วโลก อาจพบได้ถึง 14% ของประชากรทั่วไป และโรคนี้พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายเท่าๆกัน ดังนั้นคุณผู้ชายก็ไม่ควรมองข้ามโรคนี้เช่นกันนะครับ
โรคนี้ต้องผ่าตัดจึงจะหาย ?
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินนั้นเป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ โดยมีวิธีการรักษาที่หลากหลายวิธี ซึ่งการรักษาด้วยการการผ่าตัดนั้น แพทย์จะพิจารณาเฉพาะในกรณีที่รักษาด้วยวิธีต่างๆแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น หากคุณเป็นผู้ที่กลัวการผ่าตัดก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ หากสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะจึงควรรีบไปพบแพทย์ อย่ารอจนอาการหนักนะครับ
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
ถึงแม้ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงถึงชีวิตแต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตไม่น้อยไปกว่าโรคร้ายแรงหลายๆโรค ทั้งนี้เพราะอาการของโรคนี้ล้วนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งสิ้น เช่น
- อาการปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง เนื่องจากต้องลุกไปปัสสาวะบ่อยทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาจราจรติดขัดหรือช่วงเดินทางไกล อาจต้องแวะหาห้องน้ำตลอดการเดินทาง จนทำให้หลายคนไม่อยากออกจากบ้านและเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านจนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าตามมาภายหลังได้
- อาการปัสสาวะเล็ดราด ทำให้เกิดความอับอาย ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคม และอาจเกิดปัญหาในครอบครัวขึ้นได้
- อาการลุกขึ้นปัสสาวะกลางดึกบ่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สร้างความรำคาญและทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินรักษาได้ไม่ใช่แค่ผ่าตัด
ปัจจุบัน ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีวิธีในการรักษาโรคอยู่หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค อันได้แก่
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ได้แก่ ลดการดื่มน้ำในกรณีที่ดื่มน้ำมากเกินไป งดการดื่มน้ำก่อนนอนและก่อนออกเดินทาง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นการขับปัสสาวะ เช่น แอลกอฮอล์ ชาและกาแฟ ไม่อั้นปัสสาวะเวลานาน เป็นต้น
- การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะแข็งแรงขึ้น สามารถใช้รักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้ แต่ต้องผ่านการฝึกอย่างถูกวิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงควรซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำการฝึกที่ถูกต้อง
- การรักษาด้วยยาซึ่งมีกลุ่มยา antimuscarinics และ beta-3 agonist เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน จะช่วยลดการบีบตัวที่ไวเกินของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้อาการของโรคดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ตาแห้ง ท้องผูก บางรายอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหรือง่วงซึมได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าและการฉีดสาร botulinum toxin A เข้าไปในกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ วิธีนี้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาและพฤติกรรมบำบัด
- การผ่าตัดต่างๆนั้นสงวนไว้เฉพาะในกรณีที่รักษาด้วยวิธีต่างๆข้างต้นแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่านั้น
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไม่ใช่โรคที่น่าอับอายนะครับ และไม่ได้เป็นแค่ตัวเราคนเดียวยังมีอีกหลายล้านคนที่มีอาการเหมือนกันกับตัวเรา ที่สำคัญโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนั้นแค่เรากล้าที่จะออกไปขอคำจากปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรับการรักษาที่ถูกต้องคุณก็จะได้คุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมาอีกครั้ง