บทความ

การดื่มน้ำกับสุขภาพไต

การดื่มน้ำกับสุขภาพไต

น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย โดยน้ำเป็นองค์ประกอบประมาณ 60% ของน้ำหนักตัว ทำหน้าที่สำคัญต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบไหลเวียนเลือด และช่วยในการขับเคลื่อนนำส่งของเสียไปขับออกที่ไต ดังนั้นเมื่อมีการขาดน้ำจึงทำให้รบกวนการทำหน้าที่เหล่านี้ การขาดน้ำในปริมาณเล็กน้อยอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย แต่หากขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้การทำงานของไตลดลง และรบกวนการทำงานตามปกติของอวัยวะอื่น ๆ

สารบัญ

ประโยชน์ของการดื่มน้ำ

เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของของเหลวในร่างกาย และน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกายหลาย ๆ อย่าง เช่น

  • เป็นส่วนประกอบของเลือดซึ่งช่วยในการขนส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายเป็นไปอย่างเป็นปกติ
  • ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเป็นปกติ
  • ลดอาการท้องผูก ช่วยในการเคลื่อนไหวของสำไส้
  • ป้องกันการเกิดนิ่ว
  • ทำให้ร่างกายสามารถขับของเสียออกทางเหงื่อและทางไตได้ตามปกติ
  • ช่วยหล่อลื่นกระดูกข้อต่อ และไขข้อต่าง ๆ 

และร่างกายจะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นในภาวะต่าง ๆ ดังนี้

  • ในสภาพอากาศร้อน
  • มีการทำงานหรือออกกำลังกาย
  • มีอาการไข้
  • มีอาการท้องเสีย หรืออาเจียน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าน้ำมีความจำเป็นต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก หากร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำจึงอาจส่งผลต่อสุขภาพได้

ประโยชน์ของการดื่มน้ำ 6 ข้อ

การดื่มน้ำมีผลต่อไตอย่างไร?

ไตต้องกรองเลือดมากถึง 140–170 ลิตรต่อวัน และผลิตปัสสาวะเพื่อขับของเสียต่าง ๆ ทิ้งเป็นปริมาณ 1-2  ลิตร ต่อวัน น้ำจึงเป็นองค์ประกอบช่วยให้ไตสามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ตามปกติ นอกจากนี้น้ำยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบไหลเวียนโลหิตเพื่อช่วยนำออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงไตได้อย่างเพียงพอ 

การดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะลดการเกิดนิ่วในไต เพราะการขาดน้ำจะทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากขึ้นซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตกตะกอน เกิดเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้

นอกจากนี้การดื่มน้ำยังช่วยลดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ เพราะการดื่มน้ำอย่างเพียงพอและเหมาะสมจะช่วยให้ผลิตปัสสาวะอย่างเพียงพอซึ่งการปัสสาวะอย่างเพียงพอจะช่วยลดการสะสมเชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ

ปริมาณการดื่มน้ำต่อวัน

โดยปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมต่อวันในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างตามอายุ สภาพอากาศ การออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ การให้นม หรือเจ็บป่วย โดยในบุคคลที่ออกกำลังกายหนักและบุคคลที่อยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นมีความต้องการน้ำมากกว่าบุคคลที่ไม่ได้ออกกำลังกายหรือสภาพอากาศเย็น แต่โดยเฉลี่ยมักไม่ต่ำกว่า 8 แก้วต่อวัน ซึ่งแต่ละบุคคลควรปรับตามปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น หรืออาจสังเกตได้จากสีปัสสาวะ หากปัสสาวะเริ่มมีสีเหลืองเข้มอาจเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ 

อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่การทำงานของไตลดลงในระดับหนึ่งความสามารถในการขับน้ำของไตจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคไตระยะท้ายหรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทางไต อาจต้องมีการจำกัดการดื่มน้ำอย่างเคร่งครัด

ดื่มน้ำเยอะ ไตพังจริงหรือไม่?

การดื่มน้ำที่มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะหากดื่มมากเกินไปกว่าความสามารถของไตจะขับน้ำออกได้ทัน ก็จะทำให้สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติไป (electrolyte imbalance) โดยมักจะพบภาวะที่มีโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia) อาจทำให้มีอาการผิดปกติของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ปากซีดมือซีด หรืออาจมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลียจากการที่ไตทำงานมากเกินไป และการหลั่งฮอร์โมนจากไตที่ผิดปกติ ซึ่งภาวะที่มีการดื่มน้ำเยอะเกินไปนี้อาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น

  • ในนักวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬาที่ดื่มน้ำมากเกินไป เช่น มากกว่า 6-10 ลิตรด้วยความรวดเร็วอาจทำให้เกิดความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ในร่างกายได้และพบมีอาการชักหมดสติได้
  • ผู้ป่วยโรคไตบางระยะที่ไม่สามารถขับปัสสาวะไม่เพียงพอ การที่ไม่จำกัดการดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำมากเกินไป จะทำให่เกิดเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ และ บวมหายใจหอบเหนื่อย ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อการแนะนำการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

การดื่มน้ำที่ถูกต้อง

ปริมาณน้ำที่เหมาะสมในแต่ละวันจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ย 8 แก้วต่อวัน หรือ 1.5 – 2 ลิตรต่อวัน

น้ำในปริมาณที่แนะนำควรแบ่งดื่มให้ครอบคลุมตลอดทั้งวัน น้ำที่ควรดื่มควรเป็นน้ำสะอาด อุณหภูมิปกติไม่ร้อนหรือเย็นจัด แต่ถ้าเป็นน้ำอุ่นควรอุ่น ๆ เล็กน้อย และดื่มในตอนเช้าเพื่อให้การขับถ่ายดีขึ้น การดื่มน้ำไม่ควรดื่มในปริมาณมาก ๆ พร้อม ๆ กันในครั้งเดียวเพราะอาจทำให้สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติได้

เราสามารถสังเกตสีของปัสสาวะได้ว่าการดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ โดยสีของปัสสาวะควรใส ไม่ขุ่น หรือมีสีเหลืองเล็กน้อย หากปัสสาวะสีเข้มหรือขุ่นแสดงว่าร่างกายอาจกำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้น และหากร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการน้ำมากขึ้น เช่น ในสภาพอากาศร้อน การออกกำลังกาย อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ สามารถเพิ่มการดื่มน้ำให้มากกว่าปกติได้

เรียบเรียงโดย
พญ. บงกช สุรัติชัยกุล
อายุรแพทย์โรคไต
โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์

โรคไต กับการ วิ่งมาราธอน

โรคไต กับ ตัวต่อต่อย

โรคไต กับ อาหารเค็ม