การปลูกถ่ายไต
ใครบ้างที่สามารถรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตบ้าง
- ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย
- ต้องไม่มีโรคที่รุนแรงที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
- ต้องไม่เป็นมะเร็งที่ยังรักษาไม่หายขาด
- ต้องไม่มีการติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายขาด (ยกเว้นโรคตับอักเสบบีและซี ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการปลูกถ่ายไตจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ) และต้องไม่มีการติดเชื้อ HIV
- ต้องไม่ป่วยทางจิต
- ต้องไม่มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะที่แก้ไขไม่ได้
ไตที่จะปลูกถ่ายได้มาจากไหนบ้าง
ไตจากผู้บริจาคสมองตาย ซึ่งในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานได้ดี โดยต้องได้รับความยินยอมจากญาติสนิท โดยผ่านการบริจาคให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดสรรให้กับผู้รอไตอย่างยุติธรรม เที่ยงตรง และโปร่งใส
จากผู้บริจาคมีชีวิต ตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2560 ผู้บริจาคไตต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือเป็นสามีภรรยาที่แต่งงาน หรืออยู่ด้วยกันมากกว่า 3 ปี ยกเว้นมีบุตรด้วยกันก็ไม่จำเป็นต้องรอจนครบ 3 ปี
บริจาคไตแล้วเหลือไต 1 ข้าง จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพผู้บริจาคไตเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริจาคไตมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยเมื่อบริจาคไตแล้วไตอีกข้างที่มีอยู่สามารถทำงานทดแทนไตที่บริจาคได้ อนึ่งผู้บริจาคอวัยวะจะต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ และไม่ควรมีอายุมากกว่า 60 ปี
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังการปลูกถ่ายไต มีอะไรบ้าง
- 1. ร่างกายไม่รับไตใหม่ถ้าร่างกายต่อต้านไตใหม่มากอาจต้องผ่าตัดเอาไตใหม่ออก และรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือด แล้วรอคอยการผ่าตัดปลูกถ่ายไตใหม่อีกครั้ง
- 2. โรคของไตเดิมอาจเกิดที่ไตใหม่ได้
- 3. มีพิษข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกัน เช่น พิษต่อไต ตับ ระบบประสาทตา เป็นต้น แพทย์ผู้รักษาจะให้คําแนะนํา คอยป้องกันและแก้ไขพิษข้างเคียงที่เกิดขึ้น
- 4. โรคติดเชื้อ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจทําให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรค COVID-19, ไข้หวัดใหญ่, Influenza Type A และ B, โรคปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Jirovecii เป็นต้น ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะได้รับวัคซีน และยาป้องกันโรคติดเชื้อดังกล่าว แต่ถ้ามีการระบาดของโรคติดเชื้อผู้ป่วย อาจรับเชื้อโรคได้ง่ายถ้าอยู่ในสถานที่แออัด และอากาศไม่ถ่ายเท ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจึงไม่ควรอยู่ในสถานที่เหล่านั้น
- นอกจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อคัดกรองป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดโรค เช่น Cytomegalovirus (CMV), BK virus ไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C และไวรัส HIV (Human immunodeficiency virus)
- 5. โรคมะเร็งบางชนิดอาจเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เช่น โรคมะเร็งในท่อทางเดินปัสสาวะ (Genitourinary cancer), โรคมะเร็งไต (Renal cell carcinoma), โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) นอกจากนั้นอาจพบมีโรคมะเร็งในอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon cancer) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
- 6. ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น หลอดเลือดแดงของไตใหม่ตีบ, การคั่งของน้ำเหลือง หรือภาวะไส้เลื่อน เนื่องจาก ผนังหน้าท้องอ่อนแอลง เป็นตัน
อัตราความสําเร็จ
ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตในประเทศได้ผลดีมาก และสามารถเปรียบเทียบได้กับผลการปลูกถ่ายไตของต่างประเทศ โดยมีอัตราการอยู่รอดของไตที่ 1 ปี และ 5 ปี ประมาณ 90% และ 80% ตามลําดับ
ความเสี่ยง
ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจจะพบได้ เช่น ภาวะติดเชื้อเนื่องจากต้องรับประทานยาเพื่อ ลดอัตราการต้านไต (rejection) ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดซึ่งอาจจะมีภาวะเลือดออก ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดง และดําของไตใหม่และอาจจะมีปัสสาวะรั่วจากท่อไตที่ต่อใหม่กับกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเฝ้าระวังความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด หากเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยยา การเติมเลือด และการผ่าตัด เป็นต้น